You Were What You Think


You Were What You Think

สัปดาห์นี้ผมขอนำแนวคิดที่ได้จากการไปบรรยายหลักสูตร “การทำงานให้มีความสุข และประสบความสำเร็จที่สุด”  ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วมาแลกเปลี่ยนครับ

ท่านเคยรู้สึกแบบนี้บ้างไหม? “เบื่องาน” “เบื่อหัวหน้า” “เบื่อลูกน้อง” “ไม่อยากให้โลกนี้มีวันจันทร์” “อยากให้โลกนี้มีแต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และขอให้วันอาทิตย์เป็นวันที่มีเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง จะเป็น 36 หรือ 48 ชั่วโมงได้ยิ่งดี” (สมัยที่ผมทำงานประจำผมก็เคยรู้สึกแบบนี้เหมือนกันครับ) การที่เรารู้สึกแบบผลก็คือ “ไม่อยากไปทำงาน แต่ก็ต้องไปเพราะหน้าที่ จะลาป่วย ลากิจ ก็ไม่ได้เพราะเป็นหัวหน้าเขา ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ก็ต้องทน ทน ทน แล้วก็ทนๆๆๆ” ผลลัพธ์ที่ผมได้คือ อยู่กับความอดทน ทนกับสิ่งที่ไม่อยากทน

ผลของความรู้สึกนั้น ส่งผลทำให้คำถามเหล่านี้ผุดขึ้น และวนเวียนอยู่ในหัวของผมหลายเดือน  “ทำไมเราต้องตนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ด้วย” “จะทนเพื่ออะไร”  “จะทนได้อีกนานเท่าไหร่” “เรามีความสุขไหมที่จะทน” 

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะขับรถไปทำงานผมฟังรายการวิทยุเกี่ยวกับการดูแล รักษาสุภาพ โดยคุณหมอท่านหนึ่งได้พูดว่า “You Were What You Eat” ถ้าหากรับประทานอาหารมันๆ ทอดๆ มากๆ ก็ได้คอเรสเตอรอล กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ก็รอรับพยาธิได้เลยอาหารมีให้เราเลือกเยอะแยะตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา ชา กาแฟ น้ำอัดลม ขนม นม เนย หมู เห็ด เป็ด ไก่ ขาหมู หูฉลาม เป็ดปักกิ่ง หรือตั้งแต่ร้านข้างทาง ไปจนถึงภัตตาคาร 5 ดาว ทุกอย่างเรารู้หมดว่ากินอะไรจะดีต่อสุขภาพ เพราะเราเรียนกันตั้งแต่ปฐมแล้วว่า อาหารหลักมี 5 หมู่ เนื้อ นม ไข่ ท่องเป็นนกแก้ว นกขุนทอง แต่ที่สุขภาพเราแย่ เพราะเราตัดสินใจที่จะเลือก และไม่เลือก ในสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับเรานั่นเอง เช่น เมื่ออายุมากขึ้น ควร รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น กินแป้งให้น้อยลง เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้จริงไหมครับ 

               “You Were What You Think” นี่คือไอเดียที่ทำให้ชีวิตผมมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น โดยผมต่อยอดมาจากแนวคิด “You were what you eat” นั่นเอง โดยเริ่มจากความเชื่อที่ว่า

“สิ่งรอบตัวเราก็เหมือนกับอาหารที่มีให้เราเลือกกิน คือ มีทั้งสิ่งดี และไม่ดี ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกที่จะรับ หรือไม่รับ สิ่งต่างๆเหล่านั้นเข้าไปในตัวเรา แม้ในบางครั้งเราอาจเลือกได้มากบ้าง น้อยบ้าง แต่เราก็สามารถที่จะเลือกได้เอง ไม่มีใครมาบังคับเราได้

การใช้ชีวิตของเรา มักจะมีทั้งสิ่งดี และไม่ดีเข้ามาเสมอ ถ้าหากเราพยายามเลือกมองหาสิ่งที่ดี และทิ้งสิ่งไม่ดีออกไปบ้าง เราก็จะมีความสุขมากขึ้น ”

 

จากจุดเริ่มต้นนี้ผมจึงทบทวนตนเองถึงผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิด จากนั้นจึงเริ่มเปลี่ยนแนวคิด และเปลี่ยนมุมมองใหม่จากสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป้นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ลูกค้า โดยพยายามมอหาส่วนดี มากกว่าส่วนเสีย มีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมประทับใจมาก อยากนำมาเล่าคือ สมัยทำงานผมมีเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติคนหนึ่ง ตอนนั้นผมมักจะมองว่าเขาเก่งแต่ Present แต่ถ้าถามเนื้องานลึกๆ แล้วเขาสู้เราก็ไม่ได้ ด้วยความคิดแบบนี้ ทำให้ผมมักจะงัดกับเขาตลอดในที่ประชุม ผลก็ไม่ต้องเดาละครับ ความขัดแย้ง ไม่มองหน้า ไม่คุยกัน และงานสะดุดเป็นธรรมชาติเลย ซึ่งนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมเบื่อ และไม่อยากมาทำงาน

 

ผมเริ่มเปลี่ยนแนวคิด และการกระทำ โดยมองจุดดีของเขา แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ซึ่งจุดดีที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือการใช้ภาษาอังกฤษของเขาดีกว่าเรา และการทำงานของเขาก็ไม่ได้แย่ไปทุกเรื่อง บางเรื่องเขาก็ทำได้ดีกว่าเราจริงๆ หลังจากที่เปิดใจ และมองหาจุดดีของเขาแล้ว ผมก็ค่อยๆเริ่มพูดคุยกับเขาดีขึ้น โดยถือโอกาสฝึกภาษาอังกฤษ ไปในตัวโดยไม่ต้องเสียเงินไปเรียน แค่นี้ชีวิตเราก็ดีขึ้นแล้วเห็นไหมครับ อีกกรณีหนึ่ง สมัยที่ผมทำงานมีลูกน้องอยู่คนหนึ่ง มีนิสัยพูดตรงและไม่มีหางเสีย ไม่ค่อยฟังใคร เถียงเก่ง ซึ่งแน่นอนพฤติกรรมแบบนี้ไม่มีหัวหน้างานคนไหนชอบแน่ๆ ผมเปลี่ยนความคิด ค้นหาจุดดีของเขา ความรู้สึกหลังจากที่เปลี่ยนมุมมองจากลูกน้องคนนี้คือ ผมพบว่าเขาเป็นคนจริงใจ พูดตรงดี ไม่โกหก ผมพยายามฝึกฝนตนเองให้มองหาส่วนดีของผู้อื่นมากขึ้นๆ จนเป็นนิสัย ผลที่ได้รับคือ  “อาการเบื่อๆ เซ็งๆ ก็ค่อยๆ หายไป”

การเปลี่ยนแนวคิดนี้ทำให้เรียนรู้ว่า ถ้าคนเราทุกคนเปิดใจที่จะเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัว และยอมรับว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง บนโลกในนี้ไม่มีอะไรที่ดีทั้งหมด หรือแย่ทั้งหมด แม้กระทั่งตัวเราเองก็ตาม คนเรามีความแตกต่าง และมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน การที่เราไปตัดสินคนอื่น ว่าดี แย่ โดยตัวเองเป็นมาตรฐาน แล้วพยายามมองหาแต่ส่วนไม่ดีของคนอื่น ทำให้เรามีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ จะดีกว่า ถ้าทุกคนเปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรมโดยหันมามองส่วนดีของผู้อื่น และเปิดใจช่วยกันปรับปรุงของเสียซึ่งกันและกัน รับรองว่าทุกคนที่อยู่รอบข้างเรา จนถึงประเทศไทยของเราจะมีความสุขอย่างแน่นอนจริงไหมครับ? 

ขอสรุปเป็นแนวคิดส่งท้ายว่า “การนำเม็ดผักกาดไปฝังดิน ต้นที่โตขึ้นจากเม็ดนั้นย่อมเป็นต้นผักกาด ไม่ใช่ต้นขนุน หรือทุเรียน ฉันใด การที่เราคิดดี ทำดี ผลที่ได้รับ คือ ความสุขกาย สบายใจ และความร่มเย็นในชีวิตจริง ฉันนั้นจริงไหมครับ?

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อ. ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์