การทำงานเป็นทีมของญี่ปุ่น


แนวคิดพื้นฐานสำคัญของการรวมกลุ่มของญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณ มีอยู่ว่า สมาชิกแต่ละคนจะกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ยึดถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ทำโดยดูทิศทางความเห็นของกลุ่มเป็นหลัก ทุ่มเทอุทิศตนทำงานเพื่อกลุ่ม ในทางกลับกัน กลุ่มก็จะรับประกันความมั่นคงปลอดภัยของสมาชิก พูดง่าย ๆ ว่า สมาชิกกลุ่มจะร่วมกันวางกฎเกณฑ์ กติกาการทำงาน การประพฤติปฏิบัติตนให้กับสมาชิก และทุกคนที่ปฏิบัติตามก็จะได้รับหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเป็นการตอบแทน เช่น ระบบการจ้างงานตลอดชีพในบริษัทต่างๆ เป็นต้น


การทำงานโดยคำนึงถึงหมู่คณะเป็นหลักนี้ ดูได้จากพนักงานบริษัทญี่ปุ่นเกือบร้อยทั้งร้อย ใช้วันลาพักร้อนของตัวเองไม่หมด ส่วนใหญ่แทบไม่ยอมใช้ด้วยซ้ำไป เพราะเขาไม่ได้คิดแต่เพียงว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขา เขาย่อมมีสิทธิ์ใช้ได้เต็มที่ แต่เขากลับคิดว่า ถ้าเขาหยุดพักร้อนก็เท่ากับว่า คนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักขึ้น คือต้องทำงานในส่วนของเขาด้วย ในขณะที่ตัวเองไปเที่ยวสบาย คิดแล้วไม่สบายใจ ทำให้เขาไม่ยอมลาพักร้อน จนกระทั่งบริษัทใหญ่หลายแห่งต้องออกจดหมายเวียน ประกาศให้พนักงานทุกคนช่วยใช้สิทธิ์ลาพักร้อนด้วย มิฉะนั้นบริษัทจะลำบาก เพราะถูกกระทรวงแรงงานกระตุ้นเร่งเร้ามา พนักงานจึงยอมใช้สิทธิ์ลาพักร้อนบ้าง


ชาวญี่ปุ่นมีคติพจน์บทหนึ่งว่าจงตีตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา คือในหมู่คณะถ้ามีใครทำตัวแปลก ผิดไปจากหมู่ อวดเด่น อวดฉลาด ละก็ ต้องช่วยกันทุบให้จมลงไป ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ คนต่างชาติได้ยินเข้าแล้วก็ตกใจ บางท่านได้ตั้งคำถามที่น่าคิดขึ้นว่า ถ้าทุกคนต้องทำอะไรเหมือน ๆ กันหมด จะไม่เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือ?


คำตอบคือ ไม่ เพราะการทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับคนอื่นได้ ไม่ใช่หมายความว่า จะคิดหรือเสนออะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์คิดหรือเสนอสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ผู้ที่มีความสามารถก็จะค่อยๆ เรียนรู้วิธีว่า ต้องนำเสนออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แสดงออกแบบอวดฉลาด หรือ ข่มทับคนอื่น แต่นำเสนอเพื่อประโยชน์ ความก้าวหน้าของกลุ่มจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกหมั่นไส้ก็ไม่เกิดขึ้น ทุกคนพร้อมรับฟังและให้ความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคี ความก้าวหน้าก็เกิดขึ้น


ระบบควบคุมคุณภาพของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า QC. Circle อันโด่งดัง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของคนญี่ปุ่นแบบเป็นทีมได้อย่างดี


ในญี่ปุ่น คนจะเด่นได้ต้องมาจากการทำความดี สร้างผลงานซ้ำ ๆ จนทุกคนค่อย ๆ ยอมรับ และยกย่องเชิดชู คือต้องให้คนอื่นๆ ยอมรับและยกขึ้นถึงจะได้ แต่ใครที่ยกตัวเองขึ้นก็จะถูกทุบลงไปแทบจะในทันทีทันใด ถ้าเปรียบคนกับลูกโป่ง ก็เหมือนกับว่า เขาห้าม พองลม จะเป่าลมเข้าให้ดูว่าตัวเองใหญ่ไม่ได้ มิฉะนั้นจะถูกคนอื่นบีบให้แฟบลงเหลือเท่าเนื้อลูกโป่งจริง อยากจะใหญ่ต้องทำความดีมากๆ สะสมเนื้อลูกโป่งให้มากๆ ใหญ่ขึ้นโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหนักแน่น จะต้องไม่โตด้วยลม


ตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานเป็นทีมที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตัวของพวกเราในเมืองไทยนี่เอง คือ ทีมฟุตบอลชาติไทย ชุดบี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่เรียกกันว่า ดรีมทีม ถือกันว่าเป็นทีมชาติ ชุดไร้ดารา ไม่มีใครที่ถือว่าเป็นนักฟุตบอลชุดใหญ่ เป็นดาราดัง แต่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันฝึกซ้อมอย่างหนัก มีใจมุ่งมั่นเป็นหนึ่งสามัคคี กลมเกลียวกัน จนสามารถเอาชนะทีมที่มีชื่อดังจากต่างประเทศได้อย่างราบคาบ ครองแชมป์ชนะเลิศได้ท่ามกลางความชื่นชมของผู้คนทั้งหลายอย่างเป็นประวัติการณ์
ตะปูที่โผล่ขึ้นมาแม้เพียงตัวเดียว ก็ทำให้หมู่คณะรวนได้มาก


คนญี่ปุ่นเขารักคนเก่ง ชื่นชมคนเก่ง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับทีม เขาเลือกเอาทีมไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ทิ้งคนเก่งไป เพียงแต่ต้องฝึกคนเก่งให้กลมกลืนเข้ากับหมู่คณะให้ได้ เพื่อเอาความเก่งออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เขาสอนให้ตีตะปูที่โผล่ขึ้นมา ไม่บอกให้ถอนตะปูทิ้ง แต่ก็ไม่ทะนุถนอม ไม่โอ๋เอาใจคนเก่งประเภทข้ามาคนเดียว จนทำให้ทีมรวน


วิธีฝึกให้เกิดการทำงานเป็นทีมนั้น ผู้นำของทีมมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งการชี้แนะ การทำตัวเป็นแบบอย่าง ยกย่องผู้ที่ทำงานเป็นทีม ให้ความสำคัญกับทีมมากกว่าตัวบุคคล มอบหมายงานเป็นทีม ให้คุณให้โทษเป็นทีม และสิ่งหนึ่งที่อาตมภาพ อยากจะเน้นในที่นี้คือ ความยุติธรรม


ปัจจุบันภาพลักษณ์ในใจของคนทั่วไป ด้านความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบริษัทญี่ปุ่น คือ พนักงานรักบริษัท จงรักภักดีกับบริษัท บางคนก็คิดไปว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างนั้น ประเทศอื่นคงเลียนแบบยาก อาตมภาพอยากให้พวกเราได้มองอย่างนี้ว่า วัฒนธรรมของคนชาติใดชาติหนึ่ง ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของคนชาตินั้นแน่นอน แต่วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งคงที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ และจริง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จที่แท้จริงมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ และลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่องต่างหาก


พวกเราทราบหรือไม่ว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน คนงานของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นก็เคยเดินขบวนประท้วงกันอย่างหนักไม่แพ้ชาติไหน ๆ จนบริษัทแทบล้มละลายไปตามๆ กันมาแล้ว ต่อมาผู้บริหารก็ปรึกษา หารือกันและคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรม ผลกำไรของบริษัทแต่ละปีจะถูกแบ่งให้กับทุกคนอย่างยุติธรรม ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกรักบริษัทก็เกิดขึ้น ทุกคนรู้สึกว่าบริษัทเป็นของเขา ต่างก็ทุ่มเททำงานกันเต็มที่ เพราะถ้าบริษัทได้กำไรมาก เขาก็จะได้รับผลประโยชน์มากไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร จึงไม่ใช่ศัตรูที่คอยจะจ้องเอาเปรียบกันอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนในทีมเดียวกัน มีผลได้ผลเสียร่วมกัน เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดความสามารถของแต่ละคนเท่านั้น


เมื่อบริษัทหนึ่งทำได้ผล บริษัทอื่นก็เอาอย่างตาม ๆ กัน จนเป็นไปทั้งประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่า วัฒนธรรมความจงรักภักดีต่อบริษัทของญี่ปุ่นนั้น ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ ๓๐ ปีมานี่เอง และในอนาคต ถ้าเงื่อนไขเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้


ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่คนไทยเรา แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงไม่แพ้ใคร เคยมีผู้เปรียบเอาไว้ว่า ถ้าคนไทยกับคนญี่ปุ่นแข่งกันตัวต่อตัว คนไทยเราชนะขาด ถ้าสองต่อสองเริ่มสูสี แต่เมื่อไรเกินสามแล้วละก็ ญี่ปุ่นชนะขาด เพราะคนไทยมัวแต่ทะเลาะกัน ปัดแข้งปัดขากันเอง
เรามาช่วยกันสร้างนิสัยทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นกับหมู่คณะของเรากันเถิด


สุขา สงฺฆสฺส สามคฺค
ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข
(พุทธพจน์)
ขอบคุณที่มา : เว็บ http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=757