ความไม่รู้ เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจ!


ความไม่รู้ เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจ...

          ความไม่รู้จะทำให้เกิดความเสี่ยงตามมาหลายด้าน ทั้งเสียโอกาส เสียเวลา เสียงบประมาณ เสียระบบ นี่แค่เชิงเหตุผล ซึ่งลำพังทำธุรกิจนี่เสียเวลา เสียโอกาสก็หนักแล้ว  … ไหนจะเชิงอารมณ์อีก

          ความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้เราต้องรู้…ก่อนทำธุรกิจ / ก่อนที่จะผลิตอะไร  รู้…ก่อนการประสานงานกับใคร  รู้…ก่อนจะจัดซื้อหรือลงทุนอะไร รู้…ก่อนจะร่วมงานกับใคร รู้…ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นอะไร และนี่สำหรับอาชีพผมเอง คือ ต้อง รู้…ก่อนที่จะไปพูดอะไรให้ใครฟัง หลายครั้งที่ไม่รู้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราต้องพยายามหาคำตอบจนไปเจอผู้รู้จริง หรือบางอย่างก็เกินตัว ซึ่งบางครั้ง อาจ “ไม่จำเป็นต้องรู้” ก็ได้ ซึ่งเราต้องรู้ด้วย… ว่าเราอาจยังไม่ต้องรู้อะไรบ้างก็ได้ การรู้ ก็ต้องการเรียงลำดับความสำคัญด้วยเช่นกัน 

         เราจึงเคารพความรู้จากทุกคนมาก ทั้งความรู้เชิงประจักษ์ ความรู้แฝง (สาย KM คงสนิทกับคำเหล่านี้มาก) ยิ่งผู้มีประสบการณ์นี่มีค่าอนันต์นัก เพราะคำว่าประสบการณ์ก็ทำให้เกิดความรู้ได้ ไม่เกี่ยวเลยกับการที่เค้าอายุน้อยกว่าเรา หรือรายได้ อาชีพ ระดับการศึกษา ฯลฯ ต่างกัน ซึ่งปัจจัยพวกนี้ มันเป็นตัวปิดกั้น จะทำให้เรา “ไม่เรียนรู้” จากคนอื่นๆ เพราะเรายึดแค่ “เปลิอก” และจะทำให้เกิดคำว่า “Myopia” หรือสายตาสั้นทางการเรียนรู้ ที่มีผลต่อความเจริญงอกงาม วิสัยทัศน์ และการเติบโตในอนาคตในที่สุด

         ในขณะเดียวกัน ความรู้ ก็ทำให้เราลดความเสี่ยงลงได้ ลดต้นทุน ทำให้ไม่เสียเวลา และทำให้เกิด “โอกาส” ใหม่ๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

         ดังนั้น ความรู้จากทุกคนที่มีประสบการณ์ จึงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ที่เราควรให้ค่า ให้ความเคารพ และเราเองก็เลือกได้ ที่จะเรียนรู้ รับรู้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

นี่คือความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง 

….ถ้าในมุมมองความไม่รู้ของลูกค้า 

         ความไม่รู้…ก็เป็นความเสี่ยงของลูกค้า แต่เป็นโอกาสที่ดีให้กับธุรกิจได้ … ที่ไม่ใช่การฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของลูกค้า แล้วใช้ได้เชิงลบ ใช้หลอกลวง ใช้หาประโยชน์ ! 

         มันเป็นโอกาสที่ดีมาก สำหรับธุรกิจ ที่จะให้ความรู้ลูกค้า ให้ลูกค้าเป็น Smart Consumer หรือเป็น Prosumer ที่ได้ทั้ง Professional Consumer และ Producer + Consumer  ให้ลูกค้าใช้งานเป็น กินเป็น ถูกวิธี ลดต้นทุนให้ลูกค้า เพิ่มโอกาสให้ลูกค้า ฯลฯ ซึ่งถ้าหมุนมาชนกับความชำนาญ ความเชี่ยวชาญที่เรามี และแก้ปัญหา หรือ Pain Point ของลูกค้า หรือช่วยเสริมในช่องว่างที่ลูกค้ายังไม่รู้… มันก็จะเป็นทางลัดช่วยในการออกแบบคุณค่า หรือ Value Proposition Design (VPD) ได้อีกทาง  

         อยากให้ธุรกิจมี VP ด้านให้ความรู้ลูกค้าเยอะๆ มันจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรม ยกระดับการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ยกระดับความรู้ธุรกิจ ยกระดับภาพลักษณ์และแบรนด์ของธุรกิจ ยกระดับการพัฒนาคนในองค์กร (People Development) ให้มีเรื่องของการแบ่งปัน เกื้อกูลด้านความรู้และข้อมูลกัน ไม่ใช่การปกปิด การบอกไม่หมด เพราะยุคนี้ลูกค้าเก่งขึ้น และรู้ว่าแบรนด์ไหนของจริงได้ง่ายจากความรู้ (จริง) เหล่านี้ที่เรามีและส่งมอบให้เขา

          ซึ่งองค์กร กิจการ จะต้องเล่นใหญ่ เล่นหนัก เล่นจริง … คือบรรจุลงไปใน Culture ขององค์กร แล้ววางกลยุทธ์ดีๆ พวกนี้จะไปร่วมตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ทั้งการเป็น LO (Learning Organization) , KM, ความโปร่งใส, ความเป็นมืออาชีพ การสร้าง Good VP , สร้างความแตกต่าง การตอกย้ำความเชี่ยวชาญของแบรนด์, การแบ่งปัน, การสร้างประสบการณ์ที่ดี, การบริการ, การพัฒนาคนในองค์กร , การมี Growth Mindset , การมี Outward Mindset การขายที่เน้นความรู้ และการตลาดชั้นเลิศที่มุ่งลูกค้าเป็นสำคัญ ฯลฯ 

สิ่งเหล่านี้ ต้องเป็น KX Design (Knowledge Experience) ที่ระเบิดจากข้างในจริงๆ 

ถ้าอ่านแล้ว แบรนด์ใดสนใจเรื่องนี้ ผมว่าน่าสนุก ชวนทำกันนะครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำจริงๆ ให้เป็น Small  Practice สนุกๆ กัน

Source : ดร.นราธิป อ่ำเที่ยงตรง วิทยากรประจำ Genius Training