ความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือเร่งด่วน และการทำงานเชิงรุก


 สวัสดีครับทุกท่าน บทความที่เขียนขึ้นตอนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอากาศที่หนาวจับขั้วหัวใจ แบบไม่ทันตั้งตัว ผมจำได้ว่าเมื่อวันเสาร์อากาศก็ร้อนเหมือนทุกๆวัน แต่พอเช้าวันอาทิตย์เริ่มเย็นๆ แต่พอตกเย็นวันอาทิตย์ต้องรีบไปค้นเสื้อกันหนาวมาสวมแทบไม่ทัน อุณหภูมิที่รวดเร็วอย่างรวดเร็วไม่แค่วันเดียวไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก (ไม่แน่อนาคตอาจจะเกิดขึ้นบ่อยๆก็เป็นได้) ถ้าเราไม่มีการเตรียมการให้ดีอาจทำให้เจ็บป่วยได้ จากอุณภูมิที่เปลี่ยนแปลง โดยลดลงอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ผมนึกถึง เรื่องความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือเร่งด่วน (a sense of urgency) และ การทำงานเชิงรุก (be proactive) จึงขอยกประสบการณ์ตรงสมัยที่เคยทำงานมาแลกเปลี่ยนครับ

 
 
วันจันทร์ของหลายปีก่อน ในช่วงฤดูหนาวเวลาประมาณ 8.00 น. ผมเดินไปที่ไลน์การผลิตเป็นปกติ เหมือนเช่นทุกวัน ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นชนชินตาคือ ลูกน้องจะนั่งประจำที่ เปิดคอมพิวเตอร์ และเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วเริ่มการผลิต แต่วันนี้พนักงานกลับไม่อยู่ประจำที่ บางคนก็เดินไปห้องน้ำ ส่วนบางคนก็เดินไปรอบๆ เครื่องจักร เดินไปแผนกอื่น เห็นภาพนี้แล้วผมก็ต้องคิ้วผูกโบว์ ควันออกหูซิครับ สมองตอนนั้นผมคิดต่อไปเลยว่า
 
 “ถ้าลูกน้องเริ่มงานช้า ก็อาจจะทำให้เราส่งสินค้าไม่ทันรอบเวลาปกติ ซึ่งจะกระทบกับการผลิตของลูกค้า รับรองได้เลยว่าเขาไม่ยอมเราแน่ๆ ดังนั้นถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้นจริงๆ สิ่งที่เราจะต้องทำคือ ส่งสินค้าเฉพาะที่พอส่งได้ไปก่อน ส่วนสินค้าที่เหลือ เราก็ต้องส่งรอบพิเศษซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก”
 
หลังจากที่เดินไปถึงเครื่องจักรลูกน้องก็รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมจึงได้ทำการวิเคราะห์และจัดการแก้ปัญหา เวลาผ่านไปประมาณ 20 นาที ก็สามารถเริ่มการผลิตได้ โชคดีที่ไม่กระทบกับการผลิต และการส่งมอบ เพราะวันนั้นแผนการผลิตสินค้ามีน้อย สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาผมขออธิบายโดยใช้หลัก Why Why Analysis ดังนี้
 
ข้อมูลจากการลงไปดูพื้นที่จริงที่เครื่องจักรซึ่งทุกอย่างปกติยกเว้นที่บ่อน้ำล้างเท่านั้นสิ่งที่พบคือ
 
เวลา 8.05 น. อุณภูมิบ่อน้ำร้อนสำหรับล้างชิ้นงานอยู่ที่ 45◦C มาตรฐานอยู่ที่ 70±5◦C (ค่าต่ำสุด 65◦C และสูงสุดอยู่ที่ 75◦C) และ Heater ที่มีอยู่ 1 ตัว ทำงานก็ทำงานปกติดีทุกอย่าง
 
Why 1 ทำไปเริ่มงานช้า                            เพราะ อุณภูมิบ่อน้ำล้าง อยู่ที่ 45◦C ปกติที่เวลา 8.00 น. จะอยู่ที่ประมาณ 68◦C - 72 ◦C ซึ่งสามารถเริ่มการผลิตได้เลย
 
Why 2 อุณภูมิบ่อน้ำล้าง อยู่ที่ 45◦C          เพราะ อุณภูมิบ่อน้ำล้าง สูงขึ้นช้ากว่าปกติ
 
Why 3 อุณภูมิบ่อน้ำล้าง ขึ้นช้ากว่าปกติ    เพราะ น้ำเย็นกว่าปกติ และ Heater ทำงานไม่ทัน
 
Why 4 น้ำเย็นกว่าปกติ                            เพราะ อากาศเย็นอย่างรวดเร็ว และ Heater มีอยู่ตัวเดียวเท่านั้น (ถ้าอุณภูมิปกติ Heater ตัวเดียวก็ทำงานได้เลย แต่นี้เป็นเพราะอากาศเย็นลงรวดเร็วแบบที่เราคาดไม่ถึง)
 
วิธีการแก้ไขแบบด่วนๆ คือ
 
1.       ร้องขอไปยังแผนกซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่ม Heater ไปอีก 1 ตัว ผลก็คือ อุณภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าเดิม (การเพิ่ม Heater ต้องไม่มีผลกระทบกับการผลิต และไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือปัญหาอื่นๆตามมา)
 
2.       กำหนดให้ลีดเดอร์ติดตาม และควบคุมอุณภูมิบ่อน้ำล้าง โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ และติดตาม เพื่อไม่ให้อุณภูมิสูง หรือต่ำกว่ามาตรฐาน
 
3.       เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ ติดตามสินค้า
 
 
การขยายผล และต่อยอด
 
 
1. มาตรฐานการทำงานครั้งต่อไปถ้าครั้งหน้าถ้าอากาศเย็น ต้องเตรียม Heater สำรองเอาไว้เลย
 
2. ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของ 5M&1E (Men Machine Material Method Management & Environment) หัวหน้างาน และผู้จัดการก็ต้องตื่นตัว (แต่ไม่โวยวาย) และต้องเตรียมแผนการล่วงหน้าเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ ส่วนพนักงานต้องแจ้งหัวหน้างานทราบทันที โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดความผิดปกติกับเครื่องจักร หรือกรณีอื่นๆ ด้วย อย่ารอช้า จนหัวหน้ามาพบ ต้องรายงานโดยเร็วที่สุด ส่วน
 
            เรื่องนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ความหนัก ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะถ้าเราประมาท ไม่สนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วละก็ ปัญหาอื่นๆ อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว หรือคาดไม่ถึงก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมีความตระหนักแล้วก็ต้องหาแนวทางในการแก้ไข และป้องกันเอาไว้ล่วงหน้าด้วย สุดท้ายขอฝากคมคิดสะกิดใจว่า “สิ่งที่แน่นอนที่สุดในโลก คือ การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทเรื่องการเปลี่ยนแปลงโดยเด็ดขาด” 
 
 
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก อาจารย์ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์