ภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ตรงไหนในอาเซียน



เหลือเวลาอีกไม่มากนักสำหรับการเตรียมตัวรับมือก่อนการเปิดเสรีอาเซียน เราต้องเริ่มเปิดหูเปิดตาเรียนรู้เพื่อนบ้านให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเราให้ทัดเทียม และสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง หรืออย่างน้อยก็เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เราเสียโอกาสที่ควรจะเป็นของเรา เช่น งานที่ควรจะเป็นของเรา แต่เรากลับถูก “กำจัดจุดอ่อน” รับต่างชาติเข้ามาทำแทน เพราะต่างชาติมีศักยภาพมากกว่าในอัตราค่าจ้างที่เท่ากัน และคนไทยอาจหางานยากขึ้น หรืออาจตกงานเอาได้ง่าย ๆ


เมื่อเทียบสัดส่วนการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารของประเทศในอาเซียน พบว่า คนไทยที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้มีเพียง 10 % เท่านั้น ซึ่งทำให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศ


1. สิงคโปร์ 4.58 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษ 3.25 ล้านคน คิดเป็น 71%
2. ฟิลิปปินส์ 97 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษ 49.80 ล้านคน คิดเป็น 55.49%
3. บรูไน ดารุสซาลาม 0.38 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษ 0.14 ล้านคน คิดเป็น 37.73%
4. มาเลเซีย 27.17 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษ 7.4 ล้านคน คิดเป็น 27.24%
5. ไทย 63.03 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษ 6.54 ล้านคน คิดเป็น 10%


หากเปรียบเทียบคะแนน TOEFL ของบัณฑิตจากประเทศอาเซียน พบว่า ชาติที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 550 ได้แก่ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ คะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 500 ได้แก่ พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนไทยมีคะแนนเฉลี่ยของบัณฑิตต่ำกว่า 500 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับบัณฑิตจากประเทศลาว
 

อีกข้อมูลที่ยืนยันว่า ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือ การจัดอันดับของ English Proficiency Index (EFI) ที่แบ่งระดับทักษะภาษาอังกฤษออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับสูงมาก ระดับสูง ระดับปานกลาง ระดับต่ำ และระดับต่ำมาก ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน “ระดับต่ำมาก” ทั้งยังอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามเสียอีก
 

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากเรายังเฉยอยู่ ไม่พัฒนาตัวเอง อนาคตอาจรั้งท้ายทุกประเทศในอาเซียนเลยก็ได้
 

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวไว้ว่า ภาษาเป็นทักษะ เรียนรู้ได้ด้วยการฝึกฝน ใช้มาก ๆ ใช้บ่อย ๆ เท่านั้นเอง ถ้าขยันเรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน ภาษาอังกฤษ เรียนไม่ยาก สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ปีเดียวก็สามารถพัฒนาทักษะภาษาได้...ถ้าต้องการพัฒนา
 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องฝึกภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เริ่มที่ตัวเราเอง ใครไม่ตื่นตัวเราไม่ต้องรอ เพราะผลที่จะได้ก็เกิดแก่ตัวของเราเองทั้งสิ้น โดยเริ่มฝึกจากภาษาอังกฤษที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ฝึกคำศัพท์ ฝึกฟัง ฝึกออกเสียง อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิทาน อ่านบทความภาษาอังกฤษ ดูหนัง ดูสารคดีแบบไม่ต้องพึ่งซับไตเติ้ล ฟังเพลงภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องดูเนื้อร้อง หรือฝึกจากบทเรียนออนไลน์ เป็นต้น เมื่ออ่านบ่อย ๆ ก็จะเขียนเก่ง เมื่อฟังบ่อย ๆ ก็จะจดจำสำเนียง และออกเสียงได้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงเวลาเปิดอาเซียน เราก็จะสามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจ เพราะภาษาอังกฤษจะไม่ใช่จุดอ่อนของเราอีกต่อไป

ที่มา
http://th.jobsdb.com
http://www.thai-aec.com/
http://pr.trf.or.th/
http://blog.eduzones.com
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์